บันทึกนี้เป็นสำเนาดิจิทัลของบันทึกส่วนตัวใน Facebook ข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์จากการร่วมวิจัยในเรื่อง Mobile Technology for Social Development กับ Oxfam GB

อยู่บังคลาเทศมาหกวัน

ไม่ค่อยได้ไปไหน เพราะถ้าออกไปแล้วเราก็อยากถ่ายรูป พอถ่ายรูปแล้วคนก็มามุง พอมามุงแล้วรถก็ติด เดี๋ยวพี่ๆ เจ้าเมืองเขาจะด่าพ่อเอา เวลาที่ใช้ไปส่วนมากในช่วงเวลาที่ยังสว่างอยู่ก็คือการประชุม รองลงมาคือการเดินทาง

ได้มีโอกาสเดินทางไปในเมืองที่ไกลโพดที่ชื่อบาร์กูน่า ถนนเข้าก็ยังลำบาก ห่างจากเมืองหลวงธากา ไปประมาณ 300 กิโลเมตร เดินทางทางบกใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง ต้องไปด้วยเครื่องบินน้ำ ใช้เวลา 45 นาที ต้องลงจอดในแม่น้ำ กัปตันเครื่องต้องโบกให้เรือหลบ ตื่นเต้นดี

สิ่งที่พบอย่างหนึ่งคือ ในความลำบากของคนในประเทศต่างๆ ที่เคยเจอมาใน ไทย, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย จะคล้ายๆ กันคือ เกษตรกรจะในระดับยากจนข้นแค้นมหาศาลเนี่ยโดนกดขี่จากความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณะ ความยากจนจากการไม่มีโอกาสในการเข้าถึงตลาด หากเป็นกัมพูชากับบังคลาเทศก็จะเพิ่มเรื่องความลำบากของสตรีเนื่องจากโครงสร้างของสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่เข้ามาอีก

คือถ้ามองในภาพรวมแล้ว มันก็ลำบากเหมือนๆ กัน พอๆ กัน อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนคือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากความลำบากเหล่านั้น

ในบังคลาเทศนั้นมีกิจการที่เกิดขึ้นเพื่อบรรเทาความลำบากโดยยังสามารถหาเลี้ยงตัวกิจการเองได้เยอะมาก เอาตั้งแต่ Grameen Bank ที่ทำเรื่อง Micro Finance, BRAC, Grameenphone (โดน Telenore ซื้อไปสามปีแล้ว), ระบบ Telecentre ที่ส่งเสริมการสร้างผู้เชี่ยวชาญชุมชน โดย Practical Action

ความน่าสนใจมากคือ ในประเทศอื่นๆ เราคงมองเห็นการแก้ไขปัญหาลักษณะนี้ในรูปแบบของการจัดตั้งกลุ่มอาสา, องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหรือรูปแบบอื่นๆ มาเพื่อ focus ในการแก้ไขปัญหานั้นๆ

แต่บังคลาเทศไปไกลกว่านั้นด้วยการพยายามทำให้รูปแบบการทำงานนั้นเลี้ยงตัวเองได้ และดูเหมือนว่ามันจะอยู่ในวิธีคิดพื้นฐานของคนในบังคลาเทศ การทำ Social Enterprise เป็นเรื่องที่ต้องคิดรวมไว้ในกลยุทธ์ขององค์กร

Opendream ก็พยายามจะเป็นแบบนั้นอยู่ แต่ก็ยังต้องเรียนรู้กันอีกมาก

มาบังคลาเทศครั้งนี้ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างและต้องเรียนรู้อะไรอีกหลายอย่าง

สนุกดี.