ปกติเวลาเดินถนน เรามักจะได้กลิ่นควันบุหรี่โชยเข้าจมูก พอพบมากๆ เข้าก็เริ่มสงสัยว่า ถ้าเป็นย่านที่คนพลุกพล่านอย่างสยามสแควร์ จะมีสักกี่คนที่ได้รับกลิ่นควันบุหรี่และผลกระทบสุขภาพจะเป็นอย่างไร

ผู้ไม่สูบบุหรี่ มีสิทธิในอากาศที่ปราศจากควันบุหรี่

ถึงแม้จะได้ข่าวว่ามีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกรกฏาคม 2562 แล้ว แต่ภาพที่เห็นกันอย่างชินตาก็คือยังคงมีการสูบบุหรี่ในริมถนน ริมสวน ในที่จอดรถ หน้าตึก ฯลฯ กันอยู่ทุกที่ แน่นอนว่าควันบุหรี่เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ผ่านไปมาโดยไม่เลือกว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ วัยชราหรือวัยแรงงาน ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองโดยที่บางคนอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

ในปัจจุบันสถานประกอบการและพื้นที่สาธารณะหลายพื้นที่มีความตระหนักและรับผิดชอบในประเด็นนี้ จึงจัดเตรียมพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ไว้เพื่อให้ควันบุหรี่อยู่ในบริเวณจำกัด แต่บ่อยครั้งที่พบว่าแม้จะมีผู้สูบบุหรี่เฉพาะในพื้นที่สูบบุหรี่ ผู้ไม่สูบบุหรี่ที่เดินผ่านไปมาก็ยังได้รับผลกระทบอยู่ดี

Opendream สังเกตเห็นประเด็นนี้ขณะที่เดินเล่นอยู่ที่สยามสแควร์และพบเห็นคนยืนสูบบุหรี่ริมทางเดินเรื่อยๆ ตลอดทาง ในพื้นที่สูบบุหรี่ก็มีคนนั่งและยืนสูบอยู่ค่อนข้างหนาแน่น จนยากที่จะเดินผ่านแล้วไม่ได้กลิ่นบุหรี่ ทำให้เกิดความสงสัยและอยากจะศึกษาอย่างจริงจังว่าควันบุหรี่จากพื้นที่สูบบุหรี่ในสยามสแควร์จะมีผลกระทบต่อผู้คนที่เดินเล่นไปมาจำนวนมากน้อยแค่ไหน และอย่างไรกันนะ

เราจึงลองออกแบบวิธีการศึกษาผลกระทบดู โดยสำรวจการสูบบุหรี่ในบริเวณสยามสแควร์ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ พบว่ามีคนสูบบุหรี่ค่อนข้างมาก และแบ่งการสูบบุหรี่อได้เป็นสามแบบ คือ

  1. พบผู้สูบบุหรี่สูบบุหรี่อยู่ในพื้นที่เฉพาะที่จัดไว้ให้สูบบุหรี่
  2. พบผู้สูบบุหรี่สูบบุหรี่ตามจุดต่างๆ ที่อยู่นอกพื้นที่สูบบุหรี่
  3. พบก้นบุหรี่ตกอยู่ตามจุดต่างๆ

 

พื้นที่ศึกษา

เราเลือกศึกษาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ เฉพาะจากพื้นที่สูบบุหรี่ เนื่องจากมีควันบุหรี่และผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ผ่านไปมาตลอดเวลาโดยเราเลือกศึกษาเฉพาะ 3 จุด โดยเลือกจุดที่มีผุ้คนเดินผ่านพลุกพล่าน คือ

  1. พื้นที่สูบบุหรี่บริเวณสยามสแควร์ซอย 2
  2. พื้นที่สูบบุหรี่บริเวณสยามสแควร์ซอย 3
  3. พื้นที่สูบบุหรี่บริเวณข้างธนาคารกรุงเทพ

วิธีการนับ

ลักษณะโดยทั่วไปของพื้นที่สูบบุหรี่จะเป็นพื้นที่ประมาณไม่เกิน 2×2 เมตร แสดงขอบเขตด้วยแนวกระถางต้นไม้ และป้ายสัญลักษณ์พื้นที่สูบบุหรี่ ในการนับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ เรานับเฉพาะคนที่เดินเข้ามาในระยะ 5 เมตรจากขอบเขตพื้นที่สูบบุหรี่ จากสมมติฐานว่าเป็นระยะที่จะได้กลิ่นบุหรี่ และเป็นระยะที่ประกาศจากกระทรวงสาธารณสุชกำหนดให้เป็นระยะที่ปลอดบุหรี่จากทางเข้า-ออก ของสถานที่สาธารณะ ทำการนับตั้งแต่ 10:00 น. – 14:00 น. และ 15:00 น. – 18:00 น.  ในวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม 2562 รวมทั้งนับจำนวนคนที่มาสูบบุหรี่ในพื้นที่สูบบุหรี่ด้วย

ผลการสำรวจ

ผลจากการนับเพียง 7 ชั่วโมงทำให้พบว่า มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองถึงสามหมื่นกว่าคน หรือเฉลี่ยนาทีละ 74 คน โดยที่ผู้ไม่สูบบุหรี่อาจไม่ทันได้ตระหนักถึงสิทธิและโทษของควันบุหรี่มือสอง

แนวทางแก้ปัญหา การลดการเจอควันบุหรี่มือสองในที่สาธารณะ

จากข้อมูลด้านบนเราพบว่าสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ให้สูบบุหรี่นั้นส่งผลกระทบต่อผู้ที่เดินผ่านไปมาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากอยู่ใกล้ทางขึ้นลงรถไฟฟ้า ป้ายรถเมล์ และริมถนนพระราม 1

แนวทางนำเสนอเพื่อลดผลกระทบจากควันบุหรี่ที่ออกมาจากพื้นที่ดังกล่าวคือ ย้ายตำแหน่งพื้นที่สูบบุหรี่ไปยังบริเวณที่มีจำนวนผู้คนผ่านไปมาน้อย และมีป้ายนำทางไปยังพื้นที่ใหม่เพื่อช่วยให้ผู้ที่ต้องการสูบบุหรี่ไปถึงยังพื้นที่นั้นได้ หรืออีกวิธีหนึ่งคือปรับปรุงพื้นที่สูบบุหรี่ให้เป็นพื้นที่ปิดสำหรับสูบบุหรี่ เพื่อไม่ให้ควันบุหรี่ลอยออกมากระทบต่อผู้ที่ผ่านไปมา

ในเบื้องต้น Opendream จะนำผลการศึกษานี้ไปศึกษาเพิ่มเติมรวมทั้งหาความร่วมมือกับชุมชนและผู้จัดการพื้นที่ เพื่อช่วยกันหาทางลดผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองในพื้นที่สาธารณะอย่างสยามสแควร์ ได้ผลอย่างไรจะนำมาเล่าความคืบหน้าให้ทราบโดยทั่วกัน