สัมภาษณ์ ไกลก้อง ไวทยการ (@klaikong) ผู้จัดการทั่วไป สถาบัน ChangeFusion ภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย เรื่องความเคลื่อนไหว “ข้อมูลภาครัฐแบบเปิด” หรือ “ข้อมูลสาธารณะแบบเปิด” (Open Government Data หรือ Open Public Data) กับความจำเป็นของสังคมไทยที่ภาครัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะเข้าถึงได้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถร่วมพัฒนาประเทศไปพร้อม ๆ กัน ด้วยการตัดสินใจบนข้อมูลที่รอบด้าน ในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

(สัมภาษณ์โดย อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล (@bact) ระหว่างเวิร์กช็อป “Open Data Hackathon” ที่ บริษัท โอเพ่นดรีม จำกัด กรุงเทพ 4 ธ.ค. 2553; ภาพประกอบโดย @bact, @kengggg, และ @klaikong ตามสัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ คลิกที่ภาพเพื่อดูสัญญา)

ไกลก้อง ไวทยการ

ไกลก้อง ไวทยการ

อาทิตย์: วันนี้นักพัฒนาซอฟต์แวร์เขามาทำอะไรกัน ที่งาน Open Data Hackathon นี้ ?

ไกลก้อง: วันนี้มาเจอกลุ่มคนที่อยากเห็นข้อมูลของภาครัฐ ถูกนำไปใช้ประโยชน์หลายๆ ด้้านด้วยกัน และอยากเห็นว่าทำไม ประเทศนี้เนี่ย เวลาจะทำอะไรแล้วข้อมูลมันหายากมาก ๆ

งาน Open Data Hackathon นี้ จัดพร้อมกันทั่วโลก 4 ธันวาคม หลัก ๆ ในวันนี้ ก็มาดูกันว่า ข้อมูลภาครัฐ โดยเฉพาะประเทศไทย มันมีข้อมูลอะไรเปิดเผยออกมาบ้าง และมันจะเอามาทำของเจ๋ง ๆ ทำให้เห็นชุดข้อมูล ทำให้เห็นว่า เช่น สถานการณ์โรคระบาด ข้อมูลราคากลางเกษตรจะทำประโยชน์กับคนทั่วไปได้บ้าง ถ้าจะทำข้อมูลสำหรับตรวจสอบนักการเมือง จะทำไงได้บ้าง

ซึ่งข้อมูลหลาย ๆ อย่างเอง ก็มีเปิดเผยอยู่ในอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่เราก็พบว่า มันไม่ง่ายนักที่จะดึงข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น การมาเขียนเป็นแอพพลิเคชั่น การเอามานำเสนอเป็นข้อมูลที่เข้าใจง่าย เป็นภาพ เป็นกราฟ เป็นอะไรที่เอาไปใช้ตัดสินใจได้ทันที

อาทิตย์: ที่บอกว่าไม่ง่าย มันไม่ง่ายยังไง อะไรคืออุปสรรค ?

ไกลก้อง: อย่างแรกก็คือ เรื่องมาตรฐานข้อมูลเนี่ย ประเทศเราทำไม่ได้จริงซะที คุยกันมานานแล้ว ว่าจะต้องมีระบบมาตรฐาน จะต้องมี standard อะไรต่าง ๆ XML ฯลฯ แต่ถึงทุกวันนี้ เท่าที่เห็น ร้อยละ 80 ข้อมูลก็ยังอยู่ในรูปแบบ PDF ซึ่งอันนี้มันสะท้อนเรื่องวิธีคิดว่า ข้อมูลนี้ก็ยังเป็นข้อมูลของหน่วยงานนั้นอยู่ ถ้าอยากได้ข้อมูลดิบ (raw data) เพื่อจะเอาไปใช้ก็ต้องขออนุญาตก่อน เพราะ PDF มันเอาไปใช้ทำอะไรต่อไม่ได้ ไฟล์ PDF มันสะท้อนความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของของข้อมูลอยู่

อาทิตย์: อะไรคือปัญหาของ PDF ไฟล์ PDF มันก็เป็นมาตรฐานเอกสารไม่ใช่หรือ อันนี้ก็เป็นมาตรฐาน ทำไมถึงเป็นปัญหา ?

ไกลก้อง: PDF มันเอาไปใช้ต่อยาก การเอาไปแก้ไข หรือกระทั่งคัดลอกไปลงเอกสารอื่น บางครั้งก็ต้องใช้เทคนิคที่วุ่นวาย ไม่ต้องพูดถึงการที่จะดึงชิ้นข้อมูล ไปเป็นข้อมูลเพื่อการประมวลผลเพื่อการคำนวณในระบบอื่น PDF ไม่ใช่รูปแบบข้อมูลที่เหมาะสมแน่ และถ้าเราพูดถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูล ตัว PDF ก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์นี้ มันเป็นมาตรฐานเอกสาร ใช่ แต่มันไปจบแค่การเปิดเอกสารเพื่อดู แต่พอต่อจากการเปิดดู เช่นเพื่อเอาไปคำนวณ เพื่อไปให้โปรแกรมอื่นใช้งานต่อ PDF มันทำยาก เราเรียกว่ามัน “อ่านด้วยเครื่องไม่ได้” (non-machine readable) ข้อมูลที่อิเล็กทรอนิกส์ที่จะแลกเปลี่ยนกันแล้วมีประโยชน์เอาไปใช้ต่อได้ มันต้อง “อ่านด้วยเครื่องได้” (machine readable) แต่ PDF มันไม่ใช่ มันเป็น “อ่านด้วยคนได้” (human readable) เท่านั้น

พออย่างนี้แล้วเนี่ย อย่างกรณีที่เห็นชัด ๆ คือกรณีภัยพิบัติ น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา เห็นชัดว่าข้อมูลหลาย ๆ ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นรายงานประจำวันก็ตาม ปริมาณน้ำในเขื่อน รายงานสภาพภูมิอากาศ ข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้ถูกปล่อยออกมาเป็น PDF ซึ่งสอบถามไปยังหน่วยราชการ ก็ได้ทราบว่าเพราะเขาเห็นว่า การปล่อยออกมาในรูปแบบนี้ มันทำให้คนอ่านง่าย เหมาะแก่การเอาไปอ่านออกวิทยุ ออกรายการโทรทัศน์ แต่ถามว่า พอเอาเข้าจริง พอเกิดสถานการณ์จริง แม้จะมีการอ่านออกวิทยุโทรทัศน์ส่วนหนึ่ง แต่เขาไม่ได้ให้ความสำคัญไปถึงระดับการเตือนภัย การที่จะสร้างระบบเตือนภัยได้ ข้อมูลต้องเร็วและส่งถึงกันโดยอัตโนมัติ ระบบที่ส่งถึงกันโดยอัตโนมัติได้ ก็ใช้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ นั่นคือการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเป็นอิเล็กทรอนิกส์ นั่นคือ ข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานจะปล่อยออกมาต้องเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อ่านด้วยเครื่องได้ เช่น สภาพอากาศว่าตั้งแต่เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน เมื่อน้ำฝนเกิดเท่านั้นเท่านี้มิลลิเมตร ข้อมูลเหล่านี้จำเป็นต้องถูกส่งไปยังระบบที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติ ไม่ว่าจะเป็นหอเตือนภัยหรือหน่วยงานบรรเทาสาธารณะภัย ให้ตัดสินใจได้เองเลย โดยไม่ต้องรอคำสั่ง โดยเฉพาะคำสั่งที่เป็นกระดาษ

ในการสั่งการและรับข้อมูลด้วยกระดาษ ที่ผ่านมา ผู้ตัดสินใจจะได้รับรายงานเป็นกระดาษจากหน่วยงานต่าง ๆ สุดท้ายก็เป็นกระดาษหลาย ๆ ปึก ซึ่งมันไม่สามารถใช้ในการตัดสินใจได้อย่างดีพอ เพราะข้อมูลในกระดาษเหล่านั้นมันไม่สามารถถูกแยกเป็นชิ้น ๆ แล้วนำมาประกอบรวมกันกับชิ้นข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบยอดอย่างรวดเร็วให้เห็นภาพความสัมพันธ์และสถานการณ์ในภาพรวม การตัดสินใจที่มีฐานอยู่บนข้อมูลอย่างทันท่วงทีจึงเกิดขึ้นได้ยาก

การทำงาน

การทำงาน

อาทิตย์: ฟังไปฟังมา เหมือนกับว่า ประเทศของเราก็ลงทุนเรื่องระบบสารสนเทศ การวิจัยเก็บข้อมูล การตรวจวัด อะไรต่าง ๆ ไปมากมาย เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ เหมือนกับว่าปัญหาตอนนี้คงไม่ใช่ว่าเราไม่มีข้อมูล

ไกลก้อง: เรามีข้อมูล เรามีระบบ แต่มันไม่เชื่อมถึงกัน มันเชื่อมหากันไม่ได้ มันไม่มีวิธีการที่จะทำให้ข้อมูลทั้งหมด มันมารวมกันได้ ให้มันเป็นข้อมูลที่มีความหมายในเชิงการตัดสินใจ

ข้อมูลทั้งหมดที่เราหากันมา มันมีเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ แต่ปัญหาคือว่า ข้อมูลที่เรามีตอนนี้มันเป็นลักษณะการบรรยายในรายงาน รายงานในภาครัฐจะเป็นการบรรยายเป็นร้อยแก้ว พอรายงานในลักษณะที่ทำกันอยู่ มันไม่ได้เอื้อต่อการตัดสินใจ และวัฒนธรรมราชการที่ทำให้คนไม่อยากตัดสินใจ เพราะกลัวจะต้องรับผิดชอบ ก็ใช้วิธีทำเป็นรายงานส่งต่อ ๆ ขึ้นไปในระดับที่สูงขึ้น ๆ ให้พ้นตัว สองอันนี้ประกอบกันมันก็ทำให้การตัดสินใจล่าช้า ในที่สุดก็ไม่ทันการณ์ ทุกอย่างก็สายไป

อาทิตย์: โอเค อันนั้นเป็นอุปสรรคในเรื่องมาตรฐาน ที่ว่าต้องทำให้ข้อมูลมันอ่านด้วยเครื่องได้ ทีนี้ มันมีอุปสรรคอื่นอีกไหม ?

ไกลก้อง: เรื่องความรู้สึกของการเป็นเจ้าของข้อมูล คือหน่วยงานรัฐคิดว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นของฉัน แต่ไม่ได้คิดว่าข้อมูลเหล่านี้มันสร้างมาจากงบประมาณแผ่นดิน มาจากภาษีของประชาชน

อาทิตย์: มันมีคำสองคำ ข้อมูลภาครัฐ (Government Data) กับ ข้อมูลสาธารณะ (Public Data) มันต่างกันไหม ?

ไกลก้อง: คือถ้าเราคิดว่า ข้อมูลภาครัฐทั้งหมดนั้นมันสร้างขึ้นมาด้วยเงินภาษี ด้วยเงินของสาธารณะ ข้อมูลภาครัฐเหล่านี้ก็ควรจะเป็นข้อมูลสาธารณะ ซึ่งเมื่อคิดได้ดังนี้แล้ว ข้อหนึ่งก็คือ มันต้องเปิดให้สามารถเข้าถึงได้ สองคือ ต้องเปิดในลักษณะที่ทุกคนสามารถเอาข้อมูลนั้นไปใช้ต่อได้ โดยไม่มีข้อจำกัด เช่นข้อจำกัดทางกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา แนวคิดเรื่องครีเอทีฟคอมมอนส์ มันก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ คือคุณเปิดข้อมูลออกไปให้ทุกคนใช้ทำอะไรก็ได้ ขอเพียงให้อ้างอิงถึงว่าข้อมูลนี้มาจากไหน ซึ่งในทางหนึ่งมันก็เป็นไปเพื่อให้มันสามารถอ้างอิงกลับได้

แน่นอนว่ามันสามารถมีข้อยกเว้นปลีกย่อยได้ ว่าข้อมูลเฉพาะอย่างมันจำเป็นต้องปกปิด เช่นข้อมูลที่เกี่ยวกับความเป็นส่วนบุคคล แต่โดยหลักใหญ่ทั่วไปแล้วมันควรจะเปิดให้ทุกคนเข้าถึงได้

ที่พูดไป คือในมิติของสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ยังมีอีกมิติ คือมิติทางเศรษฐกิจ คือเมื่อข้อมูลภาครัฐเปิดออกมา ภาคธุรกิจหรือหน่วยงานที่จะต้องใช้ข้อมูลเหล่านั้นไปเพื่อการพัฒนาวางแผน หรือสร้างผลิตภัณฑ์ ซอฟต์แวร์ใหม่ ๆ ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้

ข้อมูลภูมิศาสตร์

ข้อมูลภูมิศาสตร์

อาทิตย์: หมายถึงว่า จริง ๆ แล้วข้อมูลที่ภาครัฐดูแลอยู่จำนวนมาก เช่น ข้อมูลประชากร ข้อมูลภูมิศาสตร์ อะไรต่าง ๆ นี้ นอกจากจะทำให้ภาครัฐตัดสินใจได้ดีขึ้นแล้ว มันยังทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจต่าง ๆ ตัดสินใจได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน แล้วสุดท้ายมันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ?

ไกลก้อง: ใช่ มันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งเรื่องของคุณภาพชีวิต

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ หลายครั้งข้อมูลที่ดีที่สุดคือข้อมูลที่อยู่ที่พื้นที่ ระดับย่อย แล้วค่อย ๆ รวบรวมขึ้นมาเป็นข้อมูลระดับใหญ่ เป็นลักษณะ bottom-up (ล่างขึ้นบน) ในแง่การสั่งการ ใช่ มันยังเป็นลักษณะบนลงล่าง แต่การรวบรวมข้อมูลยังไงมันก็เป็นแบบล่างขึ้นบน แต่ปรากฎว่าเมื่อข้อมูลมันไหลขึ้นไปสู่ข้างบนแล้ว มันไม่เคยไหลกลับมาสู่ข้างล่างเลย ดังนั้นส่วนที่อยู่ระดับบนสุดของกลไกรัฐจะมีข้อมูลทั้งหมด ของทุกท้องที่ ทั้งเรื่องทรัพยากร เศรษฐกิจ ฯลฯ ในแต่ละท้องถิ่นเป็นอย่างไร มีหมด เวลาเราพูดถึงการกระจายอำนาจ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ท้องถิ่นต้องมีชุดข้อมูลเพื่อให้ทำงานได้ ให้ตัดสินใจได้ แต่ที่ผ่านมาท้องถิ่นไม่เคยมีข้อมูลเลย แล้วก็เลยไม่มีทักษะในการใช้ข้อมูลไปด้วย

สิ่งที่ท้องถิ่นทำตลอดในการวางแผนงานก็คือ หนึ่งเลย การก่อสร้างโยธา แต่เขาก็จะไม่มีข้อมูลเรื่องการทำแผนอนุรักษ์เลย ไม่มีข้อมูลเรื่องการศึกษา เรื่องอาชีพในท้องถิ่น ชุดข้อมูลเหล่านี้ในตอนทำ OTOP หรือการทำการพัฒนาชุมชน มันถูกดึงขึ้นไปอยู่ที่ส่วนกลางระดับบนหมด เพื่อวางแผนออกมาเป็นนโยบายสั่งการลงมาที่ท้องถิ่น แต่ว่านโยบายที่จะทำในท้องถิ่นเอง มันเกิดขึ้นไม่ได้

ดังนั้น หนึ่งเลย ข้อมูลที่ท้องถิ่นส่งขึ้นไป ต้องถูกส่งกลับลงมาให้ท้องถิ่นใช้ด้วย สองคือ ต้องพัฒนาทักษะการใช้ข้อมูลเหล่านี้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรอื่น ๆ ในท้องถิ่นด้วย

อาทิตย์: อืม พูดแบบนี้เลยทำให้นึกถึงว่า จริง ๆ เราพูดถึงเรื่องกระจายอำนาจมานานมากแล้ว แล้วเราก็มีการปรับโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วพอท้องถิ่นไม่มีข้อมูลเพื่อตัดสินใจ ท้องถิ่นก็ตัดสินใจอะไรไม่ได้มากอยู่ดี…

ไกลก้อง: คือก็ตัดสินใจไปตามข้อมูลเก่า ๆ ที่เคยมี หรือตามความเชื่อที่เคยมี ซึ่งก็เท่ากับว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

อาทิตย์: เท่าที่ฟัง ๆ มา มันเหมือนกับว่า เรื่อง Open Data นี่ มันมีหลายมิติมาก

ไกลก้อง: อีกอันที่น่าสนใจคือ มิติของการมีส่วนร่วมกับข้อมูลนั้น เพราะข้อมูลใด ๆ มันจะไม่สามารถสมบูรณ์ขึ้นได้เลย ถ้าขาดการมีส่วนร่วมในการสร้างและตรวจสอบข้อมูลนั้น ๆ จากผู้ที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น ชุดข้อมูลเพื่อการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ อย่างผังเมือง จะวางเขตอุตสาหกรรมไว้ตรงไหน จะสร้างผลกระทบให้กับชุมชนไหนหรือไม่ ชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบเหล่านั้นได้มีโอกาสตรวจสอบหรือปรับปรุงข้อมูลหรือไม่

อาทิตย์: ซึ่งถ้าพูดถึง เขาก็มีการประชาพิจารณ์อะไรอยู่แล้วหรือเปล่า ?

ไกลก้อง: ใช่ แต่การที่เรามีข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่มันสะดวกต่อการเอาไปใช้ต่อ และเครื่องมือออนไลน์ มันก็จะช่วยให้การมีส่วนร่วมเป็นไปได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

อาทิตย์: หรือพูดถึงแล้ว การประชาพิจารณ์มันอาจจะไม่มีความหมายอะไรมากนัก ถ้าประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ได้มีข้อมูลที่เพียงพอในมืออยู่ก่อน ก่อนที่พวกเขาจะเข้าร่วมการประชาพิจารณ์ เพื่อให้มันเป็นการประชาพิจารณ์ที่มีความหมาย

ไกลก้อง: ใช่ แน่นอน เพราะทุกคนต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ โครงการนี้จะดีหรือไม่ดีกับบ้านฉันไหมตัวฉันไหม ก็จะทำให้ไม่ถูกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่ว่าจะฝ่ายสนับสนุนหรือคัดค้าน ใช้การโน้มน้าวได้ ทุกคนมีข้อมูล และตัดสินใจบนข้อมูลเหล่านี้

อาทิตย์: ขอกลับไปเมื่อสักครู่หน่อย ถ้าพูดถึงประชาพิจารณ์กรณีผังเมือง อย่างข้อมูลผังเมืองนี่ มันจะอ่านด้วยเครื่องหรือ machine readable ได้ยังไง ?

ไกลก้อง: การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภูมิสารสนเทศตอนนี้มันก็ทำได้ง่าย ๆ แล้ว ดูอย่าง Google Maps

อาทิตย์: หมายถึงว่า ตอนนี้ประชาชนมีเครื่องมือ มีซอฟต์แวร์ ที่จะอ่านข้อมูลพวกนั้นได้แล้ว ในราคาที่พอจะจ่ายได้

ไกลก้อง: ใช่ หรือว่าฟรี

ทีนี้ก็เหลือแต่ฝั่งต้นทางนั่นแหละ ว่าจะปล่อยข้อมูลที่มันอ่านด้วยเครื่องได้ มาให้ประชาชนใช้หรือเปล่า

คือสมัยนี้ ตอนทำข้อมูลยังไงมันต้องทำด้วยเครื่องอยู่แล้ว มัน born-digital หมายถึงว่าข้อมูลพวกนี้ จากเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องตรวจวัดอะไรต่าง ๆ มันเกิดมาก็เป็นดิจิทัลอยู่แล้ว ไม่ต้องแปลง ไม่ต้อง digitize (ดิจิไทซ์ – ทำให้เป็นดิจิทัล)

ข้อมูลผังเมืองก็อาจจะทำด้วยโปรแกรม GIS (Geographic Information System – ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์) อะไรก็ตาม ซึ่งตอนส่งออกข้อมูล มันสามารถบันทึกให้อยู่ในรูปแบบมาตรฐานที่คนอื่นจะสามารถนำไปใช้ต่อได้อยู่แล้ว ถ้าทำแบบนี้กันทุกฝ่าย ข้อมูลมันก็จะแลกกันได้ ประชาชนก็จะสามารถมามีส่วนร่วมได้ เช่น ช่วยเฝ้าระวังโรคระบาด หรือพิบัติภัย หรือเป็นจุดเสี่ยง มีอุบัติเหตุบ่อย ฯลฯ

ซึ่งในหลายประเทศ ประชาชนสามารถช่วยป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบได้ด้วยตัวเองด้วยซ้ำ โดยใช้โปรแกรมบนมือถือ แจ้งข้อมูล ถ่ายรูป เมืองไทยเองก็ไม่ใช่ว่าไม่มี เราก็มีเครือข่ายวิทยุชุมชน มี จส.100 มีเอฟเอ็ม 91 แต่อาจจะไม่ได้ทำเป็นฐานข้อมูลที่เป็นระบบ ที่ทุกคนสามารถไปสืบค้นได้โดยง่าย หรืออาจจะมีบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้เชื่อมโยงกันด้วยระบบดิจิทัล ด้วยระบบอัตโนมัติ

อาทิตย์: พูด ๆ มา เหมือนกับว่า ทุกอย่างมันเกือบจะพร้อมหมดแล้ว อย่างวันนี้เราก็มีนักพัฒนากลุ่มหนึ่งมากัน แม้จะยังเป็นกลุ่มเล็ก ๆ หรือถ้าพูดถึงมาตรฐาน เช่นที่พูดถึงข้อมูลภูมิศาสตร์ มันก็มีแล้ว เป็นมาตรฐานเปิดที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก หรือในเรื่องเครื่องมือ ที่จะสร้าง อ่าน แก้ข้อมูลในมาตรฐานเปิดเหล่านั้น มันก็มีแล้ว บางตัวก็ฟรีด้วยซ้ำไป แล้วตอนนี้เราขาดอะไร ? เมื่อสักครู่เราพูดถึงอุปสรรคหนึ่ง คือเรื่องของการหวงข้อมูล หรือยังขาดความเข้าใจในการเปิดข้อมูลในรูปแบบที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ นอกจากเรื่องนี้ มันมีอะไรอีกไหม ? งานลักษณะนี้มันควรจะต้องมีเจ้าภาพไหม หรือมันไม่ควรจะปล่อย ไม่ควรจะควบคุม ?

ไกลก้อง: ควร ควรจะต้องมีนโยบายชัดเจนออกมา คือ นโยบายมันเคยมีมาอยู่แล้ว เหลือแต่คนที่ดูแลนโยบายว่าจะให้ความสำคัญกับมันไหม ซึ่งถ้าดูตอนนี้ ก็เหมือนว่าเขายังไม่ให้ความสำคัญเท่าไรนัก

อาทิตย์: มันควรจะต้องมีหน่วยงานกลางที่มาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะไหม ? หรือควรให้แต่ละหน่วยงานที่สร้างข้อมูลเขาจัดการกันเอง ?

ไกลก้อง: รวม ๆ ถ้าจะให้ Open Data มันเกิดได้ คงต้องมาจากหลายส่วน

หนึ่ง เราควรจะมีหน่วยงานกลางอันหนึ่ง ที่ดูแลเรื่องการกำหนดมาตรฐานร่วม ประกาศว่าจะใช้มาตรฐานอะไร

สอง มันต้องมีแรงผลักดันในสังคม ที่จะทำให้มันเกิด ซึ่งเรื่อง Open Data และ Open Government นี้มันก็เป็นกระแสให้เห็นอยู่แล้วในต่างประเทศ ถ้ามันมีความชัดเจนว่า เปิดข้อมูลแล้วมันสร้างผลดีให้ชุมชน ให้กับเศรษฐกิจ ให้การดำเนินกิจการของรัฐมีความโปร่งใส สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน มันก็จะเกิดแรงจูงใจ เกิดแรงผลักดันจากสังคมไปสู่หน่วยงานของรัฐและองค์กรสาธารณะที่เกี่ยวข้อง

สาม ชุมชน โดยเฉพาะชุมชนออนไลน์และชุมชนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศ นอกจากจะเป็นผู้ใช้ข้อมูลแล้ว ยังควรจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ในการวิพากษ์วิจารณ์ มีส่วนร่วมในการออกแบบการเปิดข้อมูล หรือสร้างชุดข้อมูลของตัวเองขึ้นมาบนฐานของข้อมูลจากภาครัฐ คือทำให้คนได้เห็นว่า เราสามารถจะทำอะไรได้บ้างกับข้อมูลเหล่านี้

บรรยากาศการทำงาน

บรรยากาศการทำงาน

อาทิตย์: พอพูดถึงนโยบาย เราเองก็มี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มีระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ รวมถึงของหน่วยงานต่าง ๆ หรือในกระบวนการการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment; EIA) และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessmenะ; HIA) ก็มีส่วนที่พูดถึงการเปิดเผยข้อมูล ทีนี้ กฎหมายเหล่านี้ได้มีระบุไหม ว่าข้อมูลที่จะเปิดสู่สาธารณะ มันต้องอ่านด้วยเครื่องได้ ต้อง machine readable ?

ไกลก้อง: ไม่ได้ระบุชัดเจนถึงขนาดนั้น คือสำหรับภาครัฐแล้ว เรามองอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อ ดูได้จากการเอากฎหมายสื่อมาใช้กับอินเทอร์เน็ต พอมองเป็นสื่อนั่นแปลว่าการเปิดข้อมูลคือการเผยแพร่ แค่เผยแพร่ก็จบ ซึ่งอยากที่เราคุยกันมาก็จะเห็นว่า มันไม่ใช่ มันต้องไม่จบแค่ขั้นการเผยแพร่

มันอาจจะต้องมีกฎหมายเพิ่มเติม เช่น กฎหมายลักษณะ Paper Reduction Act ของสหรัฐอเมริกา (ซึ่งมีผลให้ Office of Information and Regulatory Affairs หรือ OIRA กลายเป็นหน่วยงานกลางของรัฐบาล ที่จะดูแลนโยบายทั้งหมดที่เกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลแบบฟอร์ม OIRA เป็นองค์กรที่มีอำนาจกำกับเรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารในระดับสหพันธ์ และกำหนดนโยบายสารสนเทศ) หรือกฎหมายที่กำหนดให้การกรอกข้อมูลแบบฟอร์มจะต้องมีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดเรื่องมาตรฐานการแลกเปลี่ยน

ซึ่งเรื่องเหล่านี้ในประเทศไทยเอง เขาก็พยายามทำกันอยู่ แต่การเคลื่อนตัวก็ยังดูเชื่องช้า

อาทิตย์: หน่วยงานอย่าง สำนักสถิติแห่งชาติ หรือ กระทรวงไอซีที เขาก็มีคนทำเรื่องพวกนี้อยู่ ?

ไกลก้อง: มีทีมงานที่ทำอยู่ เช่น มาตรฐานข้อมูลของรัฐ เขามีการจัดทำแนวทางมาตรฐานที่ชื่อ TH e-GIF (Thailand E-Government Interoperability Framework โครงการพัฒนากรอบแนวทางมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลแห่งชาติ) ซึ่งก็ประกอบด้วยมาตรฐานข้อมูลหลาย ๆ ตัว แต่อีกจุดหนึ่งที่ทำให้มันเกิดขึ้นยาก คือไม่มีหน่วยงานไหนที่จะมีอำนาจกำหนดว่า ระยะหนึ่ง ระยะสอง ระยะสาม ควรจะทำอะไรก่อนหลัง ซึ่งเรื่องเหล่านี้ บางเรื่องมันทำได้ง่ายมาก ทำได้เลย เช่นการทำ feed ข้อมูลง่าย ๆ

อาทิตย์: โอเค มันคงต้องผลักดันจากหลาย ๆ ส่วน มีนโยบายที่ชัดเจน และสร้างแรงจูงใจ อย่างที่ว่ามา แต่บางอันที่ดูเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องมีความรับผิดชอบและความรับผิดต่อสาธารณะโดยหน้าที่อยู่แล้ว มันควรจะต้องมี บทลงโทษ ด้วยไหม ถ้าเกิดไม่ทำ คือสำหรับภาคเอกชน นักพัฒนา และประชาชนทั่วไป เราบังคับไม่ได้ มันคงออกมาในรูปแรงจูงใจ แต่กรณีถ้าภาครัฐไม่ทำสิ่งที่เขาควรต้องทำ คิดว่าน่าจะมีบทลงโทษไหม ?

ไกลก้อง: จริง ๆ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ถ้าคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ มีคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดเปิดเผยข้อมูล หน่วยงานนั้นก็ต้องเปิด ถ้าไม่เปิดก็จะมีความผิด ซึ่งก็ต้องยื่นเรื่องให้คณะกรรมการฯ พิจารณาเป็นรายกรณีไป อาจจะมีความยุ่งยาก

ถ้าพูดถึงเรื่องการเปิดเผยข้อมูล ในแง่การเผยแพร่ คิดว่าเราผ่านจุดนั้นมาแล้ว อย่างน้อยมันมีกฎหมาย มีกลไกรองรับอยู่ แต่ในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เอาไปประมวลผลต่อได้ นอกจากการรับรู้รับทราบ เรายังไปไม่ถึงตรงนั้น อย่าว่าแต่บทลงโทษ แรงจูงใจก็ไม่ค่อยมี ในทางกฎหมาย ในทางนโยบาย ก็เลยไม่รู้จะทำไปทำไม

อาทิตย์: พูดง่าย ๆ ว่ามันเอาไปใส่เป็นดัชนีชี้วัด เป็น KPI ไม่ได้ ?

ไกลก้อง: จะว่าแบบนั้นก็ได้ คือใน KPI อาจจะมีเรื่องการเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็เป็นในลักษณะนับว่า มีจำนวนแฟ้มข้อมูลกี่แฟ้ม มีเยอะแค่ไหน แต่ไม่ได้ไปถึงเรื่องว่า มันอ่านด้วยเครื่องได้ไหม เป็นต้น

บรรยากาศการทำงาน

บรรยากาศการทำงาน

อาทิตย์: พูดถึงงาน Open Data Hackathon วันนี้ และโครงการ Open Data ของธนาคารโลกหน่อย

ไกลก้อง: ความเคลื่อนไหวเรื่อง Open Data มันเกิดขึ้นทั่วโลก พอประสบความสำเร็จที่หนึ่ง มันก็เกิดขึ้นในที่อื่น ๆ ตามมา ในสหรัฐอเมริกา ในยุโรป เข้าไปสู่องค์กรระหว่างประเทศ

ธนาคารโลก เขาก็คิดว่าเขาทำงานด้านข้อมูลมานาน ก็เหมือนกับเราตอนนี้ ปีนึง ๆ เก็บข้อมูลมาจำนวนเยอะมาก เป็นชุด ๆ แล้วก็ตีพิมพ์เป็นรายงานต่าง ๆ ต่อมาก็ตีพิมพ์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็น PDF ก่อน แล้วก็พัฒนามาเป็นชุดข้อมูล (data set) ที่เอาไปประมวลผลต่อได้ ซึ่งเมื่อต้นปีนี้ ก็ได้เปิดให้คนทุกคนเข้าถึงได้ฟรี ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ตามโครงการ World Bank Open Data Initiative

ซึ่งข้อมูลตรงนี้มันย้อนหลังไปเป็นสิบ ๆ ปี มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน การศึกษา สาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล ความโปร่งใส ซึ่งข้อมูลพวกนี้มันเอาไปทำอะไรได้หลายอย่างมาก ธนาคารโลกก็อยากจะให้คนอื่น ๆ จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ ให้มันสร้างผลกระทบมากขึ้น

ตัวอย่างที่มีเอาไปใช้ เช่น GapMinder ซึ่งเป็นเครื่องมือในการนำเสนอภาพข้อมูล (data visualization) แสดงผลข้อมูลเป็นรูปเป็นแผนภูมิ เพื่อการวิเคราะห์ทำความเข้าใจกับความสัมพันธ์ของข้อมูล และแนวโน้มต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ

ข้อมูลตรงนี้จากธนาคารโลกมันยังมีประโยชน์ในแง่การศึกษา การเตรียมความพร้อมของนักพัฒนาภายในประเทศ ให้เข้าใจให้คุ้นเคยกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะรองรับ Open Data อีกด้วย ในช่วงที่ข้อมูลภายในประเทศที่เป็นรูปแบบมาตรฐานยังไม่มีให้ทดลอง ก็ยังมีชุดข้อมูลของธนาคารโลกให้ลองเล่นลองสร้างซอฟต์แวร์ที่จะใช้ข้อมูลเหล่านี้ได้ ซึ่งก็จะทำให้นักพัฒนามีความเข้าใจมากขึ้น ว่าต่อไปถ้าเขารับงานจากภาครัฐ หรือจากองค์กรสาธารณะ แล้วจะต้องเปิดเผยข้อมูล มันมีเทคนิคอะไรบ้าง มีมาตรฐานอะไรที่ควรใช้ หรือการเขียน API เพื่อเชื่อมข้อมูลกันระหว่างโปรแกรม แบบไหนที่จะเหมาะสมกับข้อมูลชนิดไหน

ซึ่งตัวโครงการ Apps for Development หรือการแข่งขันแอพพลิเคชั่นเพื่อการพัฒนา ของธนาคารโลก ก็เป็นโครงการหนึ่ง ที่หวังจะกระตุ้นตรงนี้ ในรูปแบบของการแข่งขันเขียนซอฟต์แวร์ ซึ่งเปิดรับสมัครซอฟต์แวร์จากทั่วโลก

อาทิตย์: มีทีมจากเมืองไทยบ้างไหม ?

ไกลก้อง: ตอนนี้ยังไม่มี แต่ก็มีนักพัฒนาที่มีความสนใจจะส่งอยู่ ซึ่งกำหนดส่งผลงานวันสุดท้าย คือวันที่ 10 มกราคม 2554 ที่กำลังจะถึงนี้ (รายละเอียดภาษาไทย ดูได้ที่เว็บไซต์ OpenData.in.th)

บรรยากาศการทำงาน

บรรยากาศการทำงาน

อาทิตย์: จะมีกิจกรรมอะไรอีกบ้างไหม ? นอกเหนือจากนั้น

ไกลก้อง: คิดว่าคงจะมีกิจกรรมต่อเนื่องในปีหน้า โดยเฉพาะกับภาคการศึกษา ให้นักศึกษามาสนใจ และหากจะให้หน่วยงานรัฐสนใจ ก็คงต้องหาทางทำซอฟต์แวร์ต้นแบบอะไรบางอย่าง ให้เขาเห็นว่า มันมีประโยชน์อย่างไร มันทำอะไรได้บ้าง เขาจะได้อยากเปิด เรายังเชื่อในแง่บวกอยู่ ว่าหน่วยงานรัฐต่าง ๆ เขาก็อยากจะเปิด เช่น ที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างจากกรณีภัยพิบัติ หน่วยงานต่าง ๆ ก็พบว่ามันต้องเปิด คือสุดท้ายรัฐก็พบว่า ในสถานการณ์ฉับพลันแบบนี้ ลำพังแค่หน่วยงานรัฐต่าง ๆ ที่มีอยู่ ไม่สามารถช่วยเหลือคนทั้งประเทศที่กำลังจมน้ำได้พร้อม ๆ กันหรอก ก็ต้องเปิดข้อมูลออกมา ให้ทุก ๆ คน ให้เอกชน ให้ประชาชนมาช่วยกัน ให้คนพึ่งพากันเองได้ โดยไม่ต้องรอแต่รัฐ

อาทิตย์: หมายถึงว่าข้อมูลสาธารณะแบบเปิด สามารถให้คนที่อยากจะช่วย สามารถลงมือได้ทันที คือเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ตามความสมัครใจ ความสนใจ และความถนัดของตัวเอง แต่ทุก ๆ คนก็ยังมีข้อมูลที่จะช่วยเห็นภาพใหญ่ร่วมกันได้ ประสานกันได้

ไกลก้อง: ใช่ การมีข้อมูลแบบเปิด มันนำไปสู่การมีส่วนร่วมในหลาย ๆ เรื่อง ข้อมูลบางอย่างมันเป็นไปไม่ได้ที่บุคคลทั่วไปจะสามารถจัดหามาได้ อย่างข้อมูลแผนที่ดาวเทียม ข้อมูลมาตรวัดระดับน้ำ ข้อมูลการจราจร ตารางรถไฟ ข้อมูลผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน พวกนี้หน่วยงานรัฐเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ดูแล คนธรรมดาหรือเอกชนคงทำเองไม่ได้หรือทำไม่ไหว แต่มันเป็นข้อมูลที่อาจจะกระทบกับชีวิตของเขา หรือพัฒนาให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้ ถ้ามันถูกปล่อยออกมา ก็จะเป็นประโยชน์ เป็นกลไกที่จะขับเคลื่อนประเทศ

อาทิตย์: แต่ถ้าพูดแบบนี้ ก็จะมีคนโต้ว่า ข้อมูลพวกนี้มันจัดเก็บมาจากภาษีประชาชน ถ้ามันเปิดออกมา แล้วภาคเอกชนเอาไปทำมาหากิน เอาไปทำธุรกิจ แบบนี้มันจะเหมาะสมไหม ?

ไกลก้อง: ใช่ เวลาเราบอกว่าเปิดให้ “ทุกคน” เข้าถึงได้ มันรวมถึงภาคธุรกิจด้วย ซึ่งถ้าภาคธุรกิจนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ แล้วมันสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ มันก็เหมาะสม ซึ่งตราบใดที่ข้อมูลเหล่านี้มันไม่กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคง มันก็ควรจะต้องถูกเปิด

กรณีบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทข้ามชาติ ข้อมูลเชิงลึกหลายอย่างเขาเข้าถึงได้อยู่แล้ว ไม่ต้องรอตรงนี้ด้วยซ้ำ ด้วยกำลังทางเศรษฐกิจของเขาที่มีมาก การเปิดตรงนี้ ในทางกลับกัน มันเป็นไปได้ว่าจะทำให้ธุรกิจไทยโดยทั่วไปแข่งขันได้มากขึ้นเสียอีก

ทุกคนควรจะมีสิทธิเข้าถึงและใช้งานข้อมูลสาธารณะเหล่านี้ได้ คือในขณะที่บริษัทหนึ่งนำไปใช้ในทางธุรกิจได้ บริษัทคู่แข่งของเขาก็นำไปใช้ได้เช่นกัน หรือในทางการเมือง ถ้าพรรคการเมืองหนึ่งนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ได้ พรรคการเมืองคู่แข่งอื่น ๆ เขาก็ใช้ได้ รวมไปถึงภาคประชาชนด้วยเช่นกัน มันก็ยุติธรรมกับทุกฝ่าย

อาทิตย์: คือถ้าเราเชื่อว่า สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าใครจะเอาข้อมูลสาธารณะนี้ไปใช้ทำอะไร แบบไหน แต่ถ้าในภาพรวม “สาธารณะ” ซึ่งในที่นี้หมายถึงประชาชน ไม่ว่าจะในฐานะผู้บริโภคหรือในฐานะพลเมือง ได้รับประโยชน์ มันก็โอเค ?

ไกลก้อง: ใช่ ถ้ามี Open Data มันจะทำให้ประเทศเราวิ่งได้เร็วขึ้นอีกมาก

ติดตามความเคลื่อนไหวเรื่อง Open Data ในภาษาไทย ได้ที่เว็บไซต์ OpenData.in.th

เสื้อ Open Data

เสื้อ Open Data