“ไม่มีใครเสียคนเพราะอ่านหนังสือ”

ชาติ กอบจิตติ

ปราชญ์กล่าวว่า การอ่านคือวิธีการที่จะทำให้เราสามารถท่องเที่ยวไปในโลกกว้างโดยลงทุนน้อยที่สุด ซึ่งนิสัยรักการอ่านนี้ถือเป็นอุปนิสัยพื้นฐานที่มีอยู่ในตัวประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่เจริญแล้ว ตราบใดที่มนุษย์ยังเรียนรู้ชีวิตผ่านตัวอักษร ตราบนั้นหนังสือย่อมจะยืนหยัดอยู่ไม่หายไปไหน ไม่สำคัญว่ามันจะอยู่ในรูปแบบแผ่นกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์

คงไม่เป็นปัญหา หากเรามีหนังสือไม่กี่สิบเล่ม และเก็บมันไว้อ่านคนเดียว แต่จะเริ่มยุ่งยากเมื่อจำนวนหนังสือเพิ่มขึ้นไปถึงหลักร้อย และมีบุคคลอื่นมายืมหนังสือเหล่านั้นไปอ่านด้วย คงไม่สะดวกนักหากต้องแก้ปัญหาด้วยการบันทึกรายการหนังสือทั้งหมด รวมไปถึงสถานะการยืมคืนลงในกระดาษ การนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยแก้ปัญหาน่าจะเป็นทางออกที่สะดวกที่สุดในยุคปัจจุบัน ซึ่งก็จะแบ่งออกเป็น 2 แนวทางคือใช้ซอฟต์แวร์สเปรดชีตจำพวก Microsoft Excel หรือใช้ซอฟต์แวร์สำหรับจัดการโดยเฉพาะ

ซอฟต์แวร์สำหรับบริการจัดการห้องสมุด มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Library Management System (LMS) หรือ Integrated Library System (ILS) มีความสามารถหลักๆ คือ มีระบบจัดเก็บรายละเอียดบรรณานุกรมของหนังสือ (รวมทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์) และมีระบบสมาชิกที่สามารถติดตามสถานะการยืมคืนหนังสือได้อย่างสะดวก โดยทั่วไปมักจะแบ่งส่วนติดต่อกับผู้ใช้ออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนสำหรับให้บรรณารักษ์ใช้งาน กับอีกส่วนสำหรับให้สมาชิกใช้ค้นหาหนังสือที่ต้องการ ในปัจจุบันมีซอฟต์แวร์ ILS อยู่หลายตัว มีทั้งที่ขายในเชิงพาณิชย์ และที่มีลิขสิทธิ์เป็นโอเพนซอร์ส โดยโอเพนซอร์สที่คนนิยมนำไปใช้กันมาก มีสองตัว คือ Koha เหมาะกับห้องสมุดที่มีขนาดใหญ่ เช่น ห้องสมุดมหาวิทยาลัย และ OpenBiblio ที่เหมาะกับห้องสมุดขนาดเล็ก เช่น ห้องสมุดโรงเรียน เป็นต้น

โอเพ่นดรีม และ ศูนย์บริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (STKS) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้มองเห็นศักยภาพของ OpenBiblio ในแง่ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เราจึงได้ร่วมมือกันต่อยอดพัฒนาฟีเจอร์ที่คิดว่าน่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับบรรณารักษ์และสมาชิกห้องสมุดมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษาไทย หลังจากที่ร่วมมือกันพัฒนาอยู่หลายเดือน ในที่สุดก็ได้ OpenBiblio ฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งเราได้ตั้งชื่อสำหรับการพัฒนาครั้งนี้ว่า “หอไตร” (หอไตร หมายถึงอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะเป็นหอสูงสำหรับเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกหรือหนังสือธรรมทางพุทธศาสนา) หรือเรียกง่ายๆ OpenBiblio รุ่นหอไตร โดยความสามารถหลักๆ ที่พัฒนาปรับปรุงในรุ่นนี้ มีดังนี้

  • แสดงผลข้อความต่างๆ เป็นภาษาไทย
  • ระบบออกรายงาน PDF ที่สามารถแสดงผลภาษาไทยได้ถูกต้อง
  • สามารถค้นหารายการหนังสือจากห้องสมุดขนาดใหญ่ภายในประเทศได้
  • สามารถค้นหาภาพปกหนังสือจาก Amazon ได้ (ส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ)
  • เพิ่มการค้นหาขั้นสูงเข้าไปในส่วนการค้นหารายการบรรณานุกรม
  • ระบบนำเข้า/ส่งออก ข้อมูลบรรณานุกรมและข้อมูลสมาชิก
  • ปรับเปลี่ยนการแสดงผลให้ใช้ง่ายและสวยงามมากขึ้น
  • ฯลฯ

เราหวังว่าความร่วมมือของโอเพ่นดรีม และสวทช. ครั้งนี้ จะทำให้ OpenBiblio รุ่นหอไตร กลายเป็นซอฟต์แวร์สำหรับบริหารจัดการห้องสมุดขนาดเล็ก ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานได้เพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย

สามารถดาวน์โหลดซอร์สโค้ด (สัญญาอนุญาต GNU GPLv2) ได้จาก